ค้นหา
  
Search Engine Optimization Services (SEO)

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย

ก่อนหน้านั้นสองวัน คือ วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี

หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่โดยมียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านการเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ในเดือนธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่โต้เถียงในปี 2554 รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนยิ่งลักษณ์ แต่การประท้วงยังดำเนินต่อ

สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส.เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้จัดการรายวัน เขียนว่า รัฐประหารรอบนี้จะต้องไม่เพียงหยุดความขัดแย้งทางการเมืองชั่วคราว ต้องถอนรากถอนโคน "ระบอบทักษิณ" และต้องประคองอยู่ใน "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" โดยมี คสช. หรือองค์การสืบทอดอยู่ในอำนาจอีกอย่างน้อย 5 ปี

วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03:30 น. กำลังทหารพร้อมอาวุธ เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ทั้งภาคพื้นดินและผ่านดาวเทียมหลายช่อง ตามคำสั่งประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ขอให้เชื่อมสัญญาณออกอากาศจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ต่อมา เวลา 06:30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ออกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง] จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. และออกคำสั่ง 12 ฉบับ (ยกเลิก 1 ฉบับ)

โดย พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะ โฆษก กอ.รส. ชี้แจงขั้นตอนการประกาศกฎอัยการศึกว่าเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองยังชุมนุมต่อไป กอ.รส. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์ ในช่วงบ่ายวันนั้น มีประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 6/2557 เพื่อเรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต

โดยประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจให้มาประชุมกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น (22 พฤษภาคม 2557) เวลา 14.00 น. เพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน ภายหลังรัฐมนตรีรักษาการได้ออกมาเผยว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ในที่ประชุมดูแปลกไป แต่ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธคงไม่คิดรัฐประหารแน่นอน[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 ตามประกาศกอ.รส. ฉบับที่ 8/2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม ระหว่างการประชุม พลเอก ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ หลังจากเวลาผ่านไปสองชั่วโมงก็ไม่มีข้อยุติ ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ กับจตุพร พรหมพันธุ์แยกไปหารือเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน ประยุทธ์ก็ได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปพร้อม ๆ กัน เมื่อกลับมาหารือกันต่อ ประยุทธ์ได้สอบถาม ชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งชัยเกษม ระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย ประยุทธ์จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครองด้วยประโยคที่ว่า "หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ" และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมา เวลา 16:30 น. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที รวมถึงให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) หมดอำนาจ แต่คำสั่งต่าง ๆ ยังมีผลต่อเนื่องอยู่

คสช. ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ,ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ,ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. - 5.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และ บังคับให้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโทรทัศน์ดาวเทียมทุกสถานี งดออกอากาศรายการตามปกติ และให้ใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลง

คสช. ออกคำสั่ง เรียกตัวอดีตรัฐมนตรี 18 คน และ บุคคลสำคัญต่างๆเข้าพบ คสช. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์

วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ปรับเวลา ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน เป็น 0:00 - 4:00 น. ต่อมา วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557 คสช. ประกาศยกเลิกห้ามประชาชนออกจากเคหสถานทั่วราชอาณาจักร

วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดแรก และมีพิธีเปิดในวันที่ 7 สิงหาคม

วันที่ 25 สิงหาคม 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) (อังกฤษ: Peace and Order Maintaining Command (POMC)) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งตามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 2/2557 หลังจากการประกาศกฎอัยการศึก ตั้งกองบัญชาการที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

ตามคำสั่งที่ 6/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือ ระงับการถ่ายทอดออกอากาศ ของช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชน

และตามคำสั่งที่ 7/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือ ระงับการถ่ายทอดออกอากาศ ของช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนเพิ่มเติม

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งมีประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้า ซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครองราชอาณาจักรไทยไว้ได้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คืนวันที่ 22 พฤษภาคม คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากนี้ ยังสั่งยุบคณะรัฐมนตรีรักษาการ แต่วุฒิสภา ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังทำหน้าที่ต่อ คสช. ออกประกาศให้หัวหน้าคณะใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรี และยังวางตัวสมาชิกสั่งการกระทรวงและส่วนราชการที่เทียบเท่า

ในวันที่ 23 พฤษภาคม พลเอก ประยุทธ์ แถลงว่า คสช. มุ่งดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกด้านก่อนมีการเลือกตั้ง มีผู้เล่าว่า พลเอก ประยุทธ์ ชี้แจงต่อหน่วยงานต่าง ๆ ว่า จำเป็นต้องรัฐประหารเพราะคู่ขัดแย้งไม่สามารถตกลงหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งส่งผลให้ไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการในปีงบประมาณ 2558 และไม่มีใครทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เขาย้ำว่าถือการปราบปรามขบวนการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายหลัก และเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ คือ ปัญหาโครงการรับจำนำข้าว เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ภายใน 15-20 วัน เขากล่าวถึงแผนพัฒนาประเทศที่จะดำเนินการในอนาคต คือ โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง พลเอก ประยุทธ์กล่าวว่า จะตั้งสภาปฏิรูปและสมัชชาแห่งชาติเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศ และจะปกครองประเทศต่อไปจนกว่าสถานการณ์ต้องการรัฐบาลชั่วคราว

ไม่มีคำมั่นว่าจะกลับคืนสู่การปกครองพลเรือนโดยเร็ว ซึ่งผิดแปลกจากรัฐประหารก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น คสช. ประกาศว่า หัวหน้าคณะจะตัดสินใจนโยบายการบริหารประเทศ ทั้ง "ระยะสั้นและระยะยาว"

วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คสช. ยุบวุฒิสภาที่มีอยู่และให้หัวหน้าคณะมีอำนาจนิติบัญญัติ คสช. ยังสั่งให้อำนาจตุลาการดำเนินการภายใต้คำสั่ง คสช. ย้ายพลตำรวจเอก อดุลย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าคณะฯ และธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำรงตำแหน่งที่ไม่มีหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี อดุลย์และธาริตถูกมองว่าภักดีต่อรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ พลตำรวจเอก ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ ได้รับแต่งตั้งแทนอดุลย์

ภายหลัง คสช. ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบรัฐประหารครั้งนี้แล้ว แต่ไม่อธิบายว่าการสนองดังกล่าวเป็นการสนับสนุน ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม มีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. พระบรมราชโองการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหัวใจสร้างความชอบธรรมแก่รัฐประหาร

วันที่ 25 พฤษภาคม คสช. ให้ศาลทหารมีอำนาจไต่สวนคดีเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติหรือละเมิดคำสั่งของ คสช. พลเรือนไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนายความในศาลทหาร วันเดียวกัน คสช. ค้นบ้านพักของสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารซึ่งปัจจุบันถูกจำคุกสิบเอ็ดปีฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2556 คสช. กักขังภรรยาเขา ซึ่งกำลังรณรงค์ด้านนักโทษการเมือง และบุตรชาย ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจารณ์กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยถูก คสช. กักขังไว้เช่นกัน

วันที่ 26 พฤษภาคม ประยุทธ์แถลงทางโทรทัศน์ว่า จะให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในสิบห้าเดือน โดยขั้นแรกจะมุ่งสร้างความปรองดองในสามเดือน ขั้นที่สองจะตั้งคณะรัฐมนตรีและร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลาหนึ่งเดือน ขั้นที่สาม ประยุทธ์กล่าวว่า "ขั้นที่สามคือการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้ระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย" และ "จะมีการปรับกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อให้ได้คนดีและซื่อสัตย์ปกครองประเทศ" เขายังกล่าวอีกว่า "คนไทยอาจไม่มีความสุขมาเก้าปี แต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม จะมีความสุข"

วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. มีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน วันที่ 28 พฤษภาคม มีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มอีก 5 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน

หลัง คสช. ประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนว่าจะจัดการกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยว่า "เรามองว่าแรงงานเถื่อนเป็นภัยคุกคาม" ผู้อพยพต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งเป็นหญิงและเด็กเกินครึ่ง ออกนอกประเทศทันทีในวันเดียวกัน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น "การไหลบ่าเฉียบพลัน" และแสดงความกังวล

วันเดียวกัน กองทัพไทยส่งผู้แทนไปยังประเทศจีนเพื่อประชุมความมั่นคงในภูมิภาคและการฝึกซ้อมร่วม ซึ่งความพยายามสานสัมพันธ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร คสช. แถลงว่า ประเทศจีนและเวียดนามสนับสนุนตน นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของประเทศมาเลเซียยังมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยด้วย ซึ่งกองทัพไทยแถลงว่าการเยือนดังกล่าวแสดงถึงความเข้าใจอันดีต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

วันที่ 17 มิถุนายน หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เขียนว่า คสช. กำลังขยายการควบคุมเหนือรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งของไทย รวมถึงการบินไทยและ ปตท. ซึ่งมีสินทรัพย์กว่า 360,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐวิสาหกิจเป็นสมรภูมิระหว่างสองกลุ่มแยกการเมือง จนลงเอยด้วยรัฐประหารในที่สุด

ผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าในภาคเหนือของประเทศไทยถูกจับกุมและจะได้รับการปล่อยตัวต่อเมื่อจ่าย "ค่าคุ้มครอง" ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน มีผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าถูกจับกุมกว่า 1,000 คน กลุ่มสิทธิกล่าวว่า นายจ้างในภาคใต้ของประเทศไทยแนะนำคนงานต่างด้าวของตนให้ไปซ่อนตัวในป่าหรือสวนยางพาราเพื่อเลี่ยงการจับกุม

วันที่ 23 มิถุนายน มีประกาศว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550 จนวันที่ 22 กรกฎาคม หัวหน้า คสช. รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

วันที่ 15 กรกฎาคม คสช. มีประกาศให้เลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังหมดวาระ ส่วนตำแหน่งที่ว่างอยู่ให้สรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งแทน คสช. กล่าวว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นควรระงับเพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้น นักการเมืองท้องถิ่นซึ่งอยู่ในเครือข่ายของนักการเมืองระดับชาติจะกลับมาควบคุมสภาท้องถิ่น โดย คสช. จะระงับการเลือกตั้งจนกว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารประเทศหลังรัฐประหารครั้งนี้เน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวัตถุประสงค์หลัก คสช. เริ่มให้ ธ.ก.ส. นำเงินสภาพคล่อง 40,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าว 92,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และยังเร่งรัดจัดทำงบประมาณปี 2558

วันที่ 28 พฤษภาคม พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ขอเวลา 2 สัปดาห์ทบทวนโครงการลงทุนตามแผนแม่บทกระทรวงคมนาคม 2 ล้านล้านบาท(ดูเพิ่มที่ ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ….)

วันที่ 12 มิถุนายน จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาท มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์รถไฟ ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถนน ทางน้ำและทางอากาศ โดยเพิ่มแผนแม่บทโครงการทางอากาศจากแผนแม่บท 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถใช้เงินลงทุนของตัวเอง

วันที่ 1 สิงหาคม หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน รายงานว่า คสช. ได้อนุมัติโครงการขนส่งทางรางมูลค่า 741,000 ล้านบาทเพื่อเชื่อมกับประเทศจีนโดยตรงภายในปี 2564 การก่อสร้างจะเริ่มในปีหน้า เส้นทางทั้งสองยาว 1,400 กิโลเมตร แต่ต่างจากรถไฟความเร็วสูงที่ปกติวิ่งที่ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางนี้จะมีความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่จะลงทุนเพิ่ม และจนถึงวันเดียวกัน คสช. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายไปแล้ว 304,969 ล้านบาท

วันที่ 21 สิงหาคม มีตัวแทนแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตร เกษตรกรสวนยางในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ หากไม่ได้คำตอบภายใน 7 วัน จะเคลื่อนไหวต่อต้านครั้งใหญ่ พร้อมยืนยันเป็นความเดือดร้อนจริง ๆ ไม่มีเกมการเมืองอยู่เบื้องหลัง

วันที่ 25 ตุลาคม ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธาน เห็นชอบโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 จากเดิมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะจ่ายเป็น 80% ของราคาตลาด เพิ่มเป็น 90% ของราคาตลาด นโยบายดังกล่าวถูกเรียกว่า "จำนำยุ้งฉาง" และไทยรัฐ ยังว่าเป็น "ประยุทธ์นิยม"

วันที่ 12 พฤศจิกายน โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการทุจริต 30-50% เป็นมูลค่า 2-3 แสนล้านบาท เขาว่า "เดิมมีการพูดกันว่าจ่ายให้นักการเมือง 30% ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ไม่มีนักการเมือง ต้นทุนก็น่าจะลดลงสัก 30% แต่ผู้ประกอบการพูดกันว่ามันไม่ได้ลดลงเลย แต่ระมัดระวังมากขึ้น"

วันที่ 27 มกราคม 2558 พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเลิกโครงการรถเมล์-รถไฟฟรี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป พร้อมกับให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือลดค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้ต่ำใหม่ เพราะที่ผ่านมาโครงการนี้มีการนำภาษีของคนส่วนรวมไปอุดหนุนให้แก่คนเฉพาะกลุ่ม

รักษาการนายกรัฐมนตรี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา 7 ฝ่าย เดินทางออกจากสำนักงานที่กระทรวงการคลังทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมโดยทหารทันทีหลังเกิดรัฐประหาร จากนั้น คสช. สั่งให้เขาและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ถูกจับกุมมารายงานตัวภายในวันนั้น มีรายงานว่า นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล พยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพมหานคร แต่สถานทูตปฏิเสธรายงานดังกล่าว

คืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารจับกุมนักการเมืองเพิ่มเติม รวมทั้ง ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง วันรุ่งขึ้น คสช. เรียกสมาชิกพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นิวัฒน์ธำรงและยิ่งลักษณ์มารายงานตัวต่อ คสช. ในเช้าวันนั้น ยิ่งลักษณ์ถูกกักขังอยู่ที่ "เซฟเฮาส์" ที่ไม่เปิดเผย

ต่อมา คสช. เรียกบุคคลที่โดดเด่นอีก 114 คนจากทั้งสองฝ่าย และแถลงว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะถูกจับกุมและดำเนินคดี นักเคลื่อนไหว สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นบุคคลแรกที่ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว โดยกล่าวว่า "โคตรขำ ไม่ไปรายงานตัวถือเป็นความผิดอาญา" เขาท้าทายการเรียกโดยโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า "Catch me if you can" (จับฉันเลยถ้าจับได้) คสช. สนองโดยแถลงในเช้าวันที่ 24 พฤษภาคมว่า จะส่งทหารไปจับตัวผู้ไม่มารายงานตัว ต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร เข้าจับกุมสมบัติ ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดชลบุรี และต้องโทษจำคุกในเวลาต่อมา

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลแรกที่ถูกไต่สวนในศาลทหารเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โฆษก คสช. ยังกล่าวว่า การจัดการแถลงข่าวต่อสื่อต่างประเทศถือว่าไม่เหมาะสมและขัดต่อนโยบาย คสช. เขาถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ขัดคำสั่ง คสช., ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและให้ทำผิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมมีโทษระวาง 14 ปี

วันที่ 5 มิถุนายน สมบัติถูกจับกุมที่จังหวัดชลบุรี ทหารตามรอยเขาผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้เลขที่อยู่ไอพี กองทัพแถลงว่า สมบัติ จะได้รับโทษจำคุกเจ็ดปีฐานชักชวนให้ประชาชนละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็น "กฎหมายของแผ่นดิน" นอกเหนือไปจากโทษจำคุกสองปีฐานขัดคำสั่ง คสช. กองทัพยังกล่าวว่าผู้ให้ที่พักพิงสมบัติจะได้รับโทษจำคุกสองปี

กองทัพยังสั่งให้นักการทูตไทยดำเนินมาตรการเพื่อบังคับให้นักวิชาการนอกประเทศที่ถูกเรียกให้รายงานตัวกลับประเทศ เป้าหมายหนึ่ง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต กองทัพสั่งทั้งเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโตเกียวและกงสุลใหญ่ในโอซะกะว่า หากทั้งสองไม่สามารถบังคับให้ปวินกลับมาได้ จะถูกย้ายหรือให้พ้นจากราชการ ศาลทหารออกหมายจับเขาในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 พร้อมบุคคลอีก 16 ราย

คสช. ยังสั่งให้นักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและอยู่นอกประเทศมารายงานตัว รวมทั้ง รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ และจักรภพ เพ็ญแข โดยสั่งให้มารายงานตัวภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ศาลทหารออกหมายจับทั้งสองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 พร้อมบุคคลอีก 26 ราย

วันที่ 13 มิถุนายน จิตรา คชเดช ถูกจับกุมตามหมายจับศาลทหาร วันที่ 17 มิถุนายน รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสานงานและเข้ารายงานตัวกับ คสช. ก่อนหน้านี้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ้างว่าป่วยและส่งพัชรินทร์ ภาคีรัตน์มารายงานตัวแทน

วันที่ 24 มิถุนายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติปล่อยตัวกริชสุดา คุณะแสน นักเคลื่อนไหวเสื้อแดง หลังมีข่าวถูกทหารทารุณจนเสียชีวิต เธอถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่ วันที่ 28 พฤษภาคม ต่อมา วันที่ 1 สิงหาคม 2557 มีข่าวว่า กริชสุดา ขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย กริชสุดาให้สัมภาษณ์ว่า เธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกายโดยโดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว รวมทั้งใช้เท้า ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวทำให้ขาดอากาศหายใจ ประเด็นที่ถูกสอบสวน คือ ใครเป็นผู้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ต้องโทษในเรือนจำและอาวุธสงคราม ซึ่งกริชสุดาระบุว่า ผู้สอบสวนต้องการให้เธอสารภาพว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนดูแลนักโทษและผู้ยุยงส่งเสริมในกระทำผิด ส่วนที่มีข่าวว่าตนขออยู่ในการควบคุมตัวต่อไปนั้นเพื่อเอาตัวรอด ด้านพันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี และเชื่อว่ากริชสุดาต้องการดึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่

วันที่ 22 มิถุนายน 2558 ตำรวจออกหมายเรียก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โอฬาร ไชยประวัติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุสรณ์ ธรรมใจ ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ วิทยากร เชียงกูล

วันที่ 14 กันยายน 2558 พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า กริชสุดา คุณะเสน เป็นผู้จ้างวาน "ชายชุดดำ" เพราะพบสลิปโอนเงินในบ้านพักของกริชสุดาซึ่งโอนเงินให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 11 กันยายน

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ตำรวจออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ฟ้าให้ทีวี รวมทั้ง พรทิพา สุพัฒนุกูล หรือดีเจฟ้า และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ทหารจับ จตุพร พรหมพันธุ์และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่พยายามเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์

วันที่ 7 ธันวาคม 2558 มีการจับกุมนักกิจกรรมที่พยายามเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ซึ่งลือชื่อว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งมีการตัดขบวนรถไฟเพื่อจับกุมตัวนักเคลื่อนไหว และมีการปิดอุทยานโดยอ้างว่าเพื่อ "บำรุงรักษา" อุทยานดังกล่าวมีรายงานความไม่ชอบมาพากลทางการเงินมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2558

จากกรณีอื้อฉาวอุทยานราชภักดิ์ วันที่ 19 ธันวาคม 2558 มีการออกหมายเรียกบุคคลรวม 11 ราย ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และวันที่ 13 มกราคม 2559 มีการออกหมายจับบุคคลรวม 6 ราย

วันที่ 18 กุมภาพันธุ์ 2559 ทหารจับกุมนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ อิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว ก่อนนำตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 และปล่อยตัวไปในวันเดียวกัน

วันที่ 2 มีนาคม 2559 ทหารจับกุมวัฒนา เมืองสุขหลังตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์

หลังประกาศรัฐประหารแล้ว คสช. กำหนดห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น. และยังห้ามชุมนุมทางการเมืองและสั่งผู้ประท้วงทั้งหมดให้สลายตัว และยังสั่งให้สถานศึกษาทุกแห่งปิดตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 25 พฤษภาคม 2557

ยิ่งไปกว่านั้น คสช. สั่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งหยุดออกอากาศรายการปกติและให้แพร่สัญญาณรายการของกองทัพบกเท่านั้น คสช. จับกุมวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการสถานีไทยพีบีเอส หลังเขาอนุญาตให้แพร่สัญญาณรายการพิเศษเกี่ยวกับรัฐประหารทางยูทูบแทนโทรทัศน์ ในรายการ มีการสัมภาษณ์นักวิชาการหลายคน และให้ความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับรัฐประหาร ไทยพีบีเอสกล่าวว่าวันชัยถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เพื่อ "ปรับความเข้าใจระหว่างสื่อและกองทัพ"

วันที่ 23 พฤษภาคม คสช. เรียกตัวหัวหน้าสื่อมายังสโมสรทหารบกและสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจพิจารณาข้อมูลข่าวสารใดที่ดูยั่วยุ ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีความลับของทางราชการ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือหมิ่นประมาท คสช. นอกจากนี้ ยังขู่ปิดสื่อสังคมหากผู้ให้บริการไม่สามารถสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารซึ่งปลุกระดมความไม่สงบหรือปลุกระดม "การคัดค้านการรักษาความสงบ"

บ่ายวันที่ 23 พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบอะนาล๊อค (ช่องฟรีทีวี) ยกเว้นไทยพีบีเอส ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศรายการปกติ หลัง คสช. สั่งผู้ให้บริการสกัดกั้นความพยายามการแบ่งแพร่สัญญาณ (broadcast sharing) บนอินเทอร์เน็ตและสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต

วันที่ 24 พฤษภาคม องค์การสื่อออกจดหมายเปิดผนึกกระตุ้นให้ คสช. ยุติการจำกัดเสรีภาพสื่อให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ คสช. สนองโดยเรียกผู้ให้บริการสื่อทั้งหมด โดยบอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าประชุมกับ คสช.

เพื่อสนองต่อกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารบนเครือข่ายสังคม คสช. สั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้บล็อกเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นระยะ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เย็นวันนั้น เฟซบุ๊กถูกบล็อกทั่วประเทศเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง ต่อมา เมื่อเวลา 17.00 น. รองโฆษก คสช. ออกมาแถลงว่า เป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค คสช. ไม่มีนโยบายปิดเฟซบุ๊ก และจากการตรวจสอบพบข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกตเวย์ (gateway) ด้านกระทรวงไอซีทีและ กสทช. ก็ออกมายืนยันทำนองเดียวกันพลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที ชี้แจงว่าเกิดจากปริมาณผู้ใช้ที่คับคั่ง ซึ่งเกิดจุดหน่วงที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนป้ายข้อความคำสั่งของ คสช. ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงไอซีที ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ว่ามีการบล็อกเฟซบุ๊กจริง

เทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย แถลงต่อเว็บไซต์เดอะเน็กซ์เว็บในเวลาต่อมาว่าได้รับคำสั่งจาก กสทช. ให้ระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราว ทำให้พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. ออกมากล่าวตอบโต้ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของดีแทคเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เคารพในกฎกติการมารยาท จึงอาจตัดสิทธิ์ไม่ให้ดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4 จี บนย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์

ก่อนหน้านี้ จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม กระทรวงไอซีแถลงว่าได้บล็อกยูอาร์แอลไปกว่า 100 ยูอาร์แอลภายใต้กฎอัยการศึก

วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. จะส่งข้าราชการไปยังประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเพื่อให้เฟซบุ๊ก กูเกิลและไลน์ตรวจพิจารณาสื่อสังคมเข้มงวดขึ้น

ต่อมา มีประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกนอกเคหสถานจากเดิมเป็น 0.00 น. ถึง 4.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557

วันที่ 28 พฤษภาคม เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดกั้นทางหน้าแรก นับเป็นการถูกปิดกั้นครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549

วันที่ 1 มิถุนายน มีคลิปจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แสดงภาพหญิงถูกกลุ่มชายนำตัวขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูที่แยกอโศก ด้านพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าจะไม่จับกุมผู้ชุมนุมขณะมีฝูงชนเป็นจำนวนมาก แต่จะรอให้ออกจากที่ชุมนุมก่อน และกล่าวถึงกรณีการนำตัวขึ้นรถแท็กซี่ว่า กลุ่มชายดังกล่าวอาจไม่ใช่ตำรวจ อาจเป็นสามีพาตัวกลับบ้าน เพราะไม่ต้องการให้มาชุมนุม ฝ่ายผู้กำกับการสถานีตำรวจลุมพินีออกมายอมรับว่า ชายกลุ่มดังกล่าวเป็นตำรวจสืบสวนนอกเครื่องแบบ

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการทำความเข้าใจกับผู้สนับสนุน กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ให้หยุดแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และเตือนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองและแกนนำคู่ขัดแย้งให้หยุดกล่าวหา คสช. วันเดียวกัน พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ผู้ที่โพสต์หรือกดถูกใจ (like) โพสต์ที่ชวนคนมาชุมนุมบนเฟซบุ๊กถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ การชุมนุมโดยมีเจตนาแสดงออกถึงการต่อต้าน เช่น ปิดปากกันทุกคน หรือกินแซนด์วิชที่ทราบว่ามีการอ่านแถลงการณ์ด้วย แสดงว่ามีเจตนา และว่า ขณะนี้ การกินแซนด์วิชเริ่มเข้าข่ายมีความผิดเหมือนกับการชู 3 นิ้วแล้ว

วันที่ 22 มิถุนายน ตำรวจจับอุษณีย์ เศรษฐสุนทรี และทหารรับตัวไปกักขัง เนื่องจากใส่เสื้อ "Respect My Vote" (เคารพเสียงของฉัน)

วันที่ 23 มิถุนายน ตำรวจเตรียมรับมือกิจกรรมรำลึกการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หากมีนัยยะทางการเมืองจะถือว่าผิดกฎหมายและจะถูกจับกุม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่บันทึกภาพผู้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปกครองประเทศของ คสช. ส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดี จะมีรางวัลให้ภาพละ 500 บาท

วันที่ 24 มิถุนายน มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ทหารสั่งหนังสือพิมพ์ห้ามไม่ให้ตีพิมพ์เรื่องกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร วันเดียวกัน มีรายงานว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ใช้โปรแกรมประยุกต์เพื่อเก็บข้อมูลที่อยู่อีเมล แอปพลิเคชันดังกล่าวถูกเฟซบุ๊กระงับไปแล้วสองครั้ง ต่อมา ปอท. โพสต์ให้เหตุผลโปรแกรมประยุกต์ดังกล่าวว่า การเก็บรวบรวมพยานหรือข้อมูลผู้ใช้ดังกล่าวทำให้ ปอท. สามารถจัดการกับพยานได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดีมากขึ้นและจะทำให้สังคมออนไลน์สะอาดขึ้น หน้าสถิติโปรแกรมประยุกต์ออนไลน์ของเฟซบุ๊กแสดงว่า โปรแกรมประยุกต์ทั้งสองได้ที่อยู่อีเมลไปหลายร้อยที่อยู่ก่อนถูกปิด

วันที่ 25 มิถุนายน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ตั้งคณะทำงานเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลที่เป็นเท็จกระทบกับการทำงานของ คสช.

พลเมืองปัจเจกที่แสดงเชิงสัญลักษณ์อื่นถูกจับกุมและกักขังเช่นกัน ซึ่งรวมถึงหญิงคนหนึ่งสวมหน้ากากที่มีคำว่า "People" (ประชาชน) ชายคนหนึ่งตะโกนว่า "ผมเป็นพลเมืองธรรมดาที่รู้สึกอับอายเพราะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศของผมอีกครั้ง" พ่อค้าหมึกทอดที่สวมเสื้อแดง กลุ่มคนที่ปิดตา หูและปากของตน กลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ตั้งใจจัดแสดงภาพยนตร์ Nineteen Eighty-Four กลุ่มบุคคลจัดกิจกรรมหน้าวัดพระศรีมหาธาตุเพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นักศึกษาที่เปิดเพลงชาติฝรั่งเศสในที่สาธารณะ กลุ่มบุคคลถือกระดาษเขียนว่า "ประชาชนอยู่ที่ไหน" และชายที่ถือกระดาษเขียนว่า "ถือกระดาษไม่ใช่อาชญากรรม" ทั้งหมดจะถูกไต่สวนในศาลทหารฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง

วันที่ 26 กรกฎาคม 2557 คสช. มีคำสั่งฉบับที่ 108 ตักเตือนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ว่าตีพิมพ์ข้อความด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก และต่อมา คสช. ส่งหนังสือมายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รายละเอียดระบุว่า ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 มีข้อความว่า "ธรรมนูญ "บิ๊กตู่" คสช.พ่อทุกสถาบัน" ซึ่งเป็นการเสียดสี และอาจทำให้เข้าใจผิดว่า พลเอก ประยุทธ์อยู่เหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ ""น้องตาล" กลับเป็นชื่อทายาทของ “บิ๊ก คสช.” ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาท เพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การให้ “ลูกตาล” ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจมาเลือกสิ่งอำนายความสะดวกใน “ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า” อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น “บิ๊ก คสช.” ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ “บิ๊กตู่” อย่างที่คาดเดากัน แต่มี “ตาอยู่” ที่ “บิ๊กตู่” วางใจให้มาสานงานต่อก็เป็นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองใน คสช.นั่นแล" และ "การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่ามีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควตามาแบ่งเค้ก" ซึ่งจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า "หากทางหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์พิจารณาแก้ไขและขอโทษผู้ร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนพอใจ ถือว่าเรื่องเป็นที่ยุติ"

วันที่ 2 สิงหาคม พลเอก ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นประธานเปิดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมวลชน กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติงานด้านพลเรือน 738 ชุด โดยหวังชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องแนวทางการปฏิบัติงานของ คสช. และสร้างทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อ คสช. และกองทัพ รวมถึงปลูกฝังค่านิยม 12 ประเทศ ตลอดจนปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

วันที่ 4 สิงหาคม นงลักษณ์ สหวัฒนพงศ์ ผู้จัดการการตลาดนิว อีร่า ไทยแลนด์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมห้ามการขายและการเข้าถึงเกม ทรอปิโก 5 ออนไลน์เพราะเกรงว่า "เนื้อหาบางส่วนอาจกระทบต่อสันติและความสงบเรียบร้อยในประเทศ" เธอกล่าวว่า "บางส่วน [ของเนื้อหา] อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน" และว่าบริษัทฯ จะไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัย

วันที่ 8 สิงหาคม มีการจัดเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยก่อนจัดงานมีทหารประสานไปยังมหาวิทยาลัยให้ยกเลิกเสวนาดังกล่าว ปิยบุตร แสงกนกกุล วิทยากรคนหนึ่งแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กว่า "ทำไมหน่วยงานอื่นๆสามารถจัดอภิปรายพูดถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ ได้ เช่น สถาบันพระปกเกล้า จัดงานเกี่ยวกับการปฏิรูปที่กระทรวงกลาโหม โดยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ มีข่าวลงรายละเอียดมากมาย แล้วทำไมนักศึกษาถึงจัดงานในลักษณะเดียวกันไม่ได้? เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ได้อย่างไรว่าในงาน วิทยากรแต่ละท่านจะอภิปรายอย่างไร? หรือท่านดูแค่ชื่อผู้จัด ดูแค่ชื่อวิทยากร?"

วันที่ 10 สิงหาคม กองทัพสั่งองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย ให้ยุติกิจกรรมรณรงค์ในกรุงเทพมหานครซึ่งเรียกร้องสันติภาพในฉนวนกาซา โดยอ้างการห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกินห้าคนและการชุมนุมทางการเมืองของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง

วันที่ 20 สิงหาคม ทหารเชิญคณะ "เดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงานไทย" ไปที่มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ หาดใหญ่ โดยอ้างว่ากลุ่มดังกล่าวฝ่าฝืนประกาศกฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

วันที่ 2 กันยายน คสช. สั่งให้ยกเลิกการอภิปรายชื่อ "Access to Justice in Thailand: Currently Unavailable" (การเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศไทย: ขณะนี้เข้าไม่ได้) ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย

วันที่ 18 กันยายน ตำรวจยุติสัมมนา ""ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ซึ่งจัดที่ใต้ถุนอาคาร บร.1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วิทยากรรวมศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และประจักษ์ ก้องกีรติ ก่อนหน้านี้มีทหารส่งจดหมายขอให้งดจัดกิจกรรม โดยว่ายังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และ คสช. ต้องการให้ประเทศสงบเรียบร้อย แต่ผู้จัดยังยืนยันเจตนาเดิม ฝ่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล็อกห้องที่จะใช้จัดเสวนาครั้งแรก ด้านพลตำรวจตรี สมิทธิ มุกดาสนิท ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า "เรียกว่าพาตัวมาพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ยังไม่แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง ต้องดูที่ผลพูดคุยกันก่อนว่าจะรู้เรื่องหรือไม่" ตำรวจคุมตัววิทยากรและนักศึกษา 3 คนไปยังสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เพื่อสอบถามข้อมูลว่าเข้าข่ายการชักชวน ซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ ต่อมา มีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าขอพบผู้ถูกคุมตัว แต่ทหารปิดประตูกั้นไว้ไม่ให้เข้าพบ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวทั้งหมด ประจักษ์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อหากับพวกตน เพียงแต่ทำข้อตกลงว่าหากมีการจัดเสวนาวิชาการต้องส่งหัวข้อให้ทหารอนุมัติก่อน

วันที่ 19 กันยายน ช่วงบ่าย วิกิพีเดียภาษาไทยถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบล็อก โดยระบุว่า "มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม" วันเดียวกัน กิจกรรม "ครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.49" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกยกเลิก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่กระจายตัวอยู่รอบบริเวณ

ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน คสช. ออกคำสั่งที่ 64/2557 เพื่อดำเนินนโยบายคืนพื้นที่ป่า แม้ คสช. ประกาศว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ข้อเท็จจริงกลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง ผลจากนโยบายนี้ทำให้นิคมเกษตรกรยากจนถูกรื้อถอน ดำรงค์ พิเดช อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงชนกลุ่มน้อยที่พึ่งพาอาศัยป่าว่า "ชาวกะเหรี่ยงผู้อาศัยอยู่ในป่าไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขาได้ตลอดไป เนื่องจากส่วนมากเลือกเป็นพลเมืองไทย เขาควรคิดถึงประโยชน์ของป่าที่มีต่อคนส่วนใหญ่" ฝ่ายนักเคลื่อนไหวท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า กรมป่าไม้และกองทัพร่วมมือกับนายทุนพยายามฟ้องขับไล่ชุมชนของเรา ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า แม้ คสช. มีคำสั่งที่ 66/2557 ไม่ฟ้องขับไล่คนจนออกจากป่า แต่เมื่อเรียกร้องคืนจะใช้เฉพาะคำสั่งที่ 64/2557 เท่านั้น

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม กองทัพหยุดคาราวานชาวบ้านละหู่ซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งที่ 64/2557 มิให้เดินทางไปกรุงเทพมหานครเพื่อร้องทุกข์ต่อหัวหน้า คสช. ก่อนหน้านี้ วันที่ 16 สิงหาคม นายทหาร 50 นายและสมาชิกมาเฟียท้องถิ่น 2 คนข่มขู่ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา ค้นบ้านนักเคลื่อนไหว และออกคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในเจ็ดวัน

วันที่ 22 ตุลาคม ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ให้สัมภาษณ์ว่า มีทหารโทรศัพท์ถึงผู้อำนวยการโรงเรียนและถามหาเธอ ทั้งนี้ เธอเคลื่อนไหวเรียกร้องยกเลิกค่านิยม 12 ประการ เพราะเป็นการล้างสมอง และทำให้การศึกษาไทยถอยหลังลงคลอง ก่อนหน้านี้ กลุ่มฯ ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการแสดงจุดยืนคัดค้านค่านิยมดังกล่าว

วันที่ 23 ตุลาคม พลตำรวจตรี อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวหลังเกิดคดีฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ห้ามแรงงานต่างชาติดื่มกินปนกับนักท่องเที่ยว หวังลดอาชญากรรม และเตรียมหามาตรการควบคุมแรงงานต่างชาติให้อยู่ในกรอบกฎหมาย

วันที่ 7 พฤศจิกายน มติชนออนไลน์ รายงานอ้างวาสนา นาน่วมว่า กองกำลังรักษาความสงบมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารติดต่อกับแกนนำต่าง ๆ เพื่อขอให้งดเคลื่อนไหวทางการเมือง บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่เคยถูกออกคำสั่งเรียกตัวตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว ทางทหารต้องการตอกย้ำข้อตกลง หากไม่ยอมร่วมมือจะมีมาตรการตั้งแต่กฎหมายปกติ ไปจนกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญมาตรา 44

วันที่ 14 พฤศจิกายน ไทยพีบีเอสถอดรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" หลังมีนายทหารที่มีพันเอกเป็นผู้นำพบผู้บริหาร เพราะไม่พอใจการทำหน้าที่พิธีกรของณาตยา แวววีรคุปต์ในเทป ""ฟังเสียงคนใต้ก่อนการปฏิรูป" ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

วันที่ 15 พฤศจิกายน มีนายทหารกระชากตัวผู้สื่อข่าวหญิงซึ่งบันทึกภาพวิดีทัศน์เพื่อทำข่าวตามปกติที่ค่ายสุรนารี และยังมีนักข่าวอีกสองคนที่ถูกกระชากเสื้อและไล่ออกจากห้องเช่นกัน

วันที่ 19 พฤศจิกายน โรงภาพยนตร์เครือเอเป๊ก สยามสแควร์ซึ่งประกอบด้วยลิโด้และสกล่ายกเลิกการฉายภาพนตร์ เกมล่าเกม 3 ม็อกกิ้งเจย์ ภาค 1 ที่จะฉายในวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรก เจ้าหน้าที่ของโรงภาพยนตร์ดังกล่าวคนหนึ่งว่า ไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจากผู้นำเข้าภาพนตร์มาฉายตกลงกันไม่ได้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเชิญชวนให้ผู้ชมชูสัญลักษณ์สามนิ้วเข้าโรง นักศึกษาคนหนึ่งว่า ตำรวจโทรศัพท์ไปที่โรงภาพยนตร์ขอให้งดฉาย โดยจะคืนเงินที่จ่ายเหมาโรงให้ วันที่ 20 พฤศจิกายน ทางกลุ่มยังยืนยันจัดกิจกรรม ให้มารับตัวชมภาพยนตร์ได้ที่หน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ซอย 1 ตัวแทนกลุ่มให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มดาวดิน รับรองว่าจะไม่ชูสามนิ้ว และยังว่า ปฏิบัติต่อกลุ่มดาวดินอย่างนี้แล้วจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร ฝ่ายนายตำรวจที่เข้าควบคุมสถานการณ์บอกว่า เรามีสามัญสำนึกถึงสิ่งที่ควรทำ ไปปลูกต้นไม้ กิจกรรมจิตอาสาดีกว่าทำแบบนี้ และฝากถึงอาจารย์รวมทั้งผู้ปกครองด้วย ขอให้ไปแสดงความเห็นทางการเมืองในเวทีปฏิรูป ที่เขาเปิดให้ ยืนยันว่าไม่จับแต่ต้องคุยกันปรับทัศนคติ นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมนักศึกษาที่ขอค่าตั๋วภาพยนตร์คืน ซึ่งเขาเป็นนักศึกษาที่เคยอ่านหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ในที่สาธารณะ และมีการจับกุมนักศึกษาที่ชูสามนิ้วที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ต่อมา ตำรวจปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่แจ้งข้อหา

วันที่ 30 มกราคม 2558 คสช. สั่งห้ามงานประชุมเรื่องการจำกัดสื่อของมูลนิธิฟรีดริช-เอแบร์ท-ชติฟทุงของเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์การส่งเสริมประชาธิปไตยสังคมทั่วโลก ฝ่ายพันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ว่า ผู้จัดงานควรให้สารสนเทศเกี่ยวกับงานล่วงหน้าแก่เจ้าหน้าที่ และถูกขอให้เลื่อนเพราะ "เราอยู่ในช่วงละเอียดอ่อน" ด้านมานพ ทิพย์โอสถ โฆษกสมาคมนักข่าว ว่า องค์การฯ ว่า เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวว่างานนี้อาจก่อความเสียหายและละเอียดอ่อนมาก

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวอิศรารายงานอ้างพันเอก วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กรณีมีกระแสข่าว คสช. ขอความร่วมมืองดล้อการเมืองในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70 ว่า คสช. ขอความร่วมมือ เนื่องจากการล้อเลียนกันไปมาอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นอีกได้ ฝ่ายประชาไท รายงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ (วันงาน) ว่า พลตำรวจตรี ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6, รองศาสตราจารย์ ธนิต ธงทอง รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าตรวจสอบขบวนล้อการเมือง ทั้งให้นักศึกษาอธิบายถึงแนวคิดของหุ่นล้อการเมืองแต่ละตัวอย่างละเอียด และเจ้าหน้าที่ได้กำชับไม่ให้กระทบแนวทางปรองดองและปฏิรูปของ คสช. ต่อมา เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปิดประตูสนามกีฬาห้ามขบวนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้า และขอให้นักศึกษาเก็บป้ายผ้าข้อความเสียดสีการเมืองทั้งหมด เหลือเพียงแต่หุ่นต่าง ๆ หลังการเจรจาสักพัก นักศึกษายินยอมเก็บป้ายผ้า เจ้าหน้าที่จึงเปิดประตูให้

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ โฆษกรัฐบาลแถลงว่า รัฐบาลห้ามยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเดินทางออกนอกประเทศเพื่อรับประกันให้เธออยู่ในประเทศเพื่อเผชิญข้อกล่าวหาอาญา

วันที่ 16 มีนาคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักเคลื่อนไหวสี่คนจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizen) เตรียมขึ้นศาลทหารในข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะของ คสช. ฝ่ายสุนัย ผาสุกแห่งฮิวแมนไรท์วอช เรียกคดีนี้ว่าเป็น "คดีหลักหมุด" (landmark case)

วันที่ 17 เมษายน พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวหาสมบัติ บุญงามอนงค์ ว่า การขายข้าวบรรจุถุงของสมบัติเป็นอีเวนต์ทางการเมือง พลตรีสรรเสริญยังว่า หากทำได้ อยากให้ช่วยรับซื้อข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพื่อนำเงินมาชดเชยความเสียหายต่อประเทศนับแสนล้านบาท พร้อมเตือนสมบัติว่ายังอยู่ในรายชื่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยถูกเรียกปรับทัศนคติ อาจพิจารณามาตรการต่อไป

วันที่ 22 พฤษภาคม อันเป็นวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร มีการจับนักศึกษา 7 คนที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือป้ายต้านรัฐประหาร และจับนักศึกษาศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย 13 คน ซึ่งต่อมาได้รับปล่อยตัว และต่อมา ตำรวจกักตัวอีกประมาณ 30 คนที่ชุมนุมนอกศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 23 พฤษภาคม หลังจากมีข่าวลือว่านักศึกษาผู้หนึ่งถูกไฟฟ้าช็อต มีเจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ไปเยี่ยม และโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า นักศึกษาผู้นี้ถูกทำร้ายจริง แต่ไม่ถูกไฟฟ้าช็อต

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 พลตรี เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กล่าวว่ามีการจัดกำลังทหารและตำรวจในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 โดยหากมีการแสดงสัญลักษณ์ที่เป็นปัญหาจะให้หยุดการแสดง และขู่ว่าหากมีการแสดงออกที่ทำให้เกิดความเสียหาย คราวหลังอาจไม่มีขบวนพาเหรด และการแปรอักษร

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยวังสะพุง ออกคำสั่งพื้นที่ควบคุมโดยให้ อบต.เขาหลวง เป็นพื้นที่ควบคุม

คสช.จัดรณรงค์ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยจัดการเฉลิมฉลองรับรัฐประหารซึ่งกองทัพจัดแสดงป๊อป โดยละเว้นการห้ามชุมนุมเกินห้าคน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่าจะจัดเทศกาลดนตรีในสวนทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ฝ่ายประยุทธ์จะจัดรายการรายสัปดาห์เพื่อสรุปงานของ คสช. ซึ่งจะไม่มีการตอบคำถามของสาธารณะ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งถูกบังคับให้แพร่สัญญาณ

วันที่ 11 มิถุนายน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คสช. ประสานงานให้ กสทช. จัดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ทุกนัดผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และช่อง 8 หลังศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงที่สุดแล้ว พร้อมเชิญผู้แทนบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนต์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) หารือแนวทางในการชดเชย โดยฝ่ายอาร์เอส เสนอให้มีค่าชดเชยเป็นเงิน 766.515 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และคณะกรรมการ กสทช. ประชุมพิจารณาการชดเชยดังกล่าว โดยออกมติให้ใช้กองทุน กทปส.ชดเชยให้อาร์เอสบีเอส เป็นเงินไม่เกิน 427.015 ล้านบาท ด้านสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน โพสต์เฟซบุ๊กว่า การใช้เงินดังกล่าวไม่สมควร ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาติ ไร้สาระ และสูญเปล่า แนะนำว่า กสทช. ควรปฏิเสธ คสช. ไป เขาเสนอว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างห้องสมุดประชาชนได้ทุกจังหวัด

ด้านวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกแถลงว่า คสช.ร่วมกับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, บริษัท พร้อมมิตร โปรดักชัน จำกัด และโรงภาพยนตร์จำนวน 160 แห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ” ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 รอบฉายเวลา 11:00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วันที่ 6 สิงหาคม 2557 มีผู้แทน คสช. รับมอบตั๋วภาพยนตร์ในโอกาสวันแม่แห่งชาติจำนวน 20,000 ใบจากบริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แม่ลูกมีกิจกรรมร่วมกัน

บนเฟซบุ๊ก มีการเว็บเปิดแฟนเพจชื่อ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ต่อมาหลังเกิดรัฐประหาร ก็ใช้แฟนเพจเดียวกันนี้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ คสช.

ผู้ประท้วง กปปส. จำนวนมากยินดีกับประกาศรัฐประหาร ณ ที่ชุมนุม พระพุทธะอิสระประกาศชัยชนะของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนเวทีก่อนขอให้ผู้ติตดามสลายตัวและกลับบ้าน ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาล แม้ยังมีผู้ปฏิเสธไม่ยอมกลับในทีแรก ผู้ประท้วงกลุ่มสุดท้ายออกจากกรุงเทพมหานครในเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม ศสช. จัดรถทหารเจ็ดสิบคันเพื่อส่งผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายกลับภูมิลำเนา

มีรายงานประชาชนสนใจถ่ายรูปกับทหารและยานพาหนะของทหาร ทั้งมีการนำดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่มมามอบให้ทหารในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสุโขทัย จังหวัดกาฬสินธุ์

วันที่ 23 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ออกบทบรรณาธิการว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะนักการเมืองของเราไม่สามารถระงับความขัดแย้งของพวกเขาได้ด้วยวิธีปกติ และทหารใช้ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพวกเขาเป็นข้ออ้างลงมือ ตั้งแต่กำหนดกฎอัยการศึกและรัฐประหารในที่สุด ทุกกลุ่มซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเรื้อรังนี้ควรรับผิดชอบต่อผลลัพธ์แห่งความดื้อรั้นของตน พวกเขาควรเสียสละประโยชน์ส่วนตนแก่ผลประโยชน์ของชาติ" นักวิชาการบางคนแย้งว่า ปัญหาของไทยไม่มีทางออกอื่นแล้ว

มาร์ค วิลเลียมส์ (Mark Williams) แห่งบริษัทปรึกษาวิจัยเศรษฐกิจแคปิตอลอีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า "ตลาดหลักทรัพย์อาจต้อนรับรัฐประหาร" เพราะลดความไม่แน่นอนและความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าทางการเมืองซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้" แต่คาดว่าผลทางบวกจะเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ

วันที่ 25 พฤษภาคม พีระศักดิ์ พอจิต อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คสช. ทำถูกแล้วที่ตัดสินใจยุบวุฒิสภา เพราะจะทำให้ คสช. ดำเนินการล่าช้า การให้ คสช. กุมอำนาจทั้งหมดเป็นการดี เนื่องจากทำให้ คสช. ดำเนินการได้รวดเร็ว และเชื่อว่าเหตุการณ์หลังจากนี้น่าจะสงบขึ้นตามลำดับ

วันเดียวกัน มีการจัดการชุมนุมต่อต้านผู้ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ คสช. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง วันที่ 26 พฤษภาคม กลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจัดการชุมนุมคล้ายกัน

ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีผสมกัน แม้เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กขออภัยที่ไม่สามารถผลักดันแผนปฏิรูปประเทศและปกป้องประชาธิปไตยได้ และพร้อมร่วมคัดค้านรัฐประหาร หาก คสช. ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไรและประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร และมีผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงเสนอประชาธิปไตยที่ดีกว่า แต่เขาก็โพสต์สนับสนุนให้ คสช. ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อรับมือกับการต่อต้านรัฐประหาร

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานหลังกองทัพจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวว่า กองทัพไทยเริ่มเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อ และได้รับการช่วยเหลือจากสื่อไทยที่ส่วนใหญ่ "ยอมรับใช้" นับแต่รัฐประหาร หนังสือพิมพ์บ้านเมือง พาดหัวข่าวว่า "ชาวนารับเงินยิ้มทั้งน้ำตา" รายงานอื่นแสดงชาวนาเดินขบวนไปยังฐานทัพเพื่อมอบดอกกุหลาบและถือป้ายประกาศความปิติต่อผู้นำรัฐประหาร การเดินขบวนของชาวนาในจังหวัดภูเก็ต ลพบุรีและอุบลราชธานียังมีป้ายเดียวกันด้วย ชาวนาคนหนึ่งในอำเภอเชียงยืนให้สัมภาษณ์ว่า "ชาวนาจริงไม่ออกมาทำอย่างนั้นหรอก ชาวนาจริงวุ่นวายทำงานเกินไป"

ชาวกรุงเทพมหานครจำนวนมากยินดีกับรัฐประหารหลังความขัดแย้งทางการเมืองนานเจ็ดเดือน กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันมองว่า ทหารเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ ผู้ชุมนุมนิยมกองทัพกล่าวว่า พวกตนยินดีกับรัฐประหารหากหมายถึงการขจัดอิทธิพลของทักษิณ ก่อนหน้ารัฐประหาร การนำเสนอข่าวท้องถิ่นจำนวนมากพรรณนาว่าทหารเป็นวีรบุรุษมาสู้กับนักการเมืองและตำรวจที่เป็นผู้ร้ายที่กินเงินใต้โต๊ะ รัฐประหารครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความแตกแยกของประเทศ

มีการตั้งกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารอย่าง "สนับสนุน คสช."ฯ หรือ "สนับสนุนกองทัพไทย" ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพ และอีกจำนวนหนึ่งปัดคำวิจารณ์ของต่างชาติ และว่า คนต่างชาติไม่เข้าใจวิกฤตการณ์ของไทย ไม่เข้าใจว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทยเลวร้ายเพียงใด

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าพลเอก ประยุทธ์ควรใช้อำนาจเด็ดขาด อย่าเป็นนักประชาธิปไตยเช่นที่ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำสมัยดำรงตำแหน่ง อย่าสนใจคำครหานินทาว่ามาจากรัฐประหาร หากทำดี แก้ปัญหาได้ ทำประเทศปรองดองได้ ทุกคนจะสรรเสริญ

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่เคยสนับสนุนหรือส่งเสริมรัฐประหาร แต่ควรมองต่อไปว่าเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า ดีกว่ามาคิดว่ารัฐประหารนี้ควรหรือไม่ "โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบจะไม่สูญเปล่า" และกล่าวว่า ไม่มีทางที่รัฐประหารจะอยู่ค้ำฟ้า อีกไม่นานก็จะกลับสู่วิถีประชาธิปไตย เขายังเชื่อว่า หากรัฐบาลยอมลาออกจากตำแหน่งจะไม่เกิดรัฐประหาร

วันที่ 15 มิถุนายน สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งถามความคิดเห็นของประชาชน 1,634 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายน โดยอันดับแรก คือ การชุมนุมทางการเมืองยุติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข

สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งวารสารการเงินธนาคาร เจ้าของนามปากกา ลม เปลี่ยนทิศ ผู้เขียนคอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขียนว่ารัฐประหารของ คสช. ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและ คสช. ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและนักธุรกิจทุกภาคส่วนมากขึ้น ควรที่ผู้นำชาติตะวันตกจะมาศึกษา ประชาชนรู้สึกดีต่อผู้นำที่มาจากรัฐประหาร เพราะไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงและเรียกสินบนจากเอกชน รัฐประหารครั้งนี้เป็นการเรียกศรัทธาและความสุขให้คนไทย เขาหวังให้ประยุทธ์ปฏิรูปประเทศไทยด้วยระบบคุณธรรมและยุติธรรม อย่าปล่อยทิ้งไว้เหมือนรัฐประหารครั้งก่อน

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า "หากวันนี้ไม่มีการยึดอำนาจ ประเทศคงจะพินาศไปแล้ว เพราะมีการข่าวชัดเจนว่ามีกองกำลังต่างชาติเข้ามา อีกทั้งหลากหลายภาคส่วนก็สามารถซื้อได้ด้วยเงิน"

กลุ่มสื่อมวลชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการคุกคามสื่อ โดยเรียกร้องให้กองทัพบก ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก และยกเลิกประกาศ กอ.รส.ฉบับที่ 3, 7, 8 และ 9 ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงออกของสื่อมวลชน

ชาวไทยต่อต้านรัฐประหารมีจำนวนจำกัด แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งจัดกิจกรรมเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐประหาร นักวิชาการชาวไทยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อรัฐประหาร โดยส่วนใหญ่แสดงความกังวลอย่างจริงจัง ต่อผลกระทบเชิงลบต่อประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของไทย กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกตนว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเน้นสิทธิของบุคคล ในการคัดค้านรัฐบาล ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ทหารปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทันที ในแถลงการณ์ สปป. กล่าวว่า

"การปกครองที่ดีนั้นไม่ใช่การปกครองด้วยการใช้กำลังบังคับข่มเหงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำให้ประชาชนยอมรับ ทำให้ประชาชนให้ความยินยอม เป็นผู้มีวาจาสัตย์ และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนทุกฝ่าย หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นประชาชนเป็นศัตรูและมุ่งใช้กำลังข่มเหงเพียงอย่างเดียวเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างไม่รู้จบ และท่านก็จะปราบปรามประชาชนไปนับไม่ถ้วน จนกระทั่งท่านก็จะไม่เหลือประชาชนให้ปกครองอีกเลย"

นอกจากนี้ สมาชิก สปป. ยังชุมนุมกันหน้าอาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันเดียวกัน เพื่อแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหาร นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหารและเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก

เวลา 14:45 น. บริเวณทางเข้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เพชรรัตน์ วงศ์วิเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร แสดงตัวขึ้นพร้อมป้ายที่แขวนคอไว้ มีข้อความว่า "ช่วยด้วย ฉันถูกปล้น" ซึ่งสื่อให้เห็นว่าเธอไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ และรู้สึกไม่พอใจที่ถูกทหารปล้นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งไม่พอใจที่คนไทยส่วนใหญ่เพิกเฉยกระทำดังกล่าว โดยสื่อต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ไม่นานก็เดินทางกลับ และเวลา 16:55 น. มีกลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเริ่มตั้งกลุ่มชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน

เวลา 18:00 น. ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมารวมตัวกัน ณ ประตูช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อต่อต้านการแทรกแทรงทางการเมืองของกองทัพ ตลอดจนการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม และรัฐประหาร และเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากประตูช้างเผือกไปตามถนนมณีนพรัตน์ฝั่งคูเมืองเชียงใหม่ด้านนอก มุ่งไปทางแจ่งศรีภูมิทางทิศตะวันออกของคูเมืองเมื่อเวลา 19.00 น. เวลา 19:47 น. กลุ่มประชาคมจุฬาลงกรณ์เพื่อประชาชน ออกแถลงการณ์คัดค้านการทำรัฐประหารของ คสช. โดยขอให้ คสช. ประกาศยุบตัวเอง และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งในทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า อำนาจทางอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชน

ในวันที่ 24 พฤษภาคม มีกลุ่มบุคคลจัดการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทหารพร้อมโล่ปราบจลาจลประจำอยู่ ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่ง มีความตั้งใจว่าจะเดินขบวน ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ถูกกำลังทหารสกัดไว้ วันเดียวกัน คสช. เรียกนักวิชาการนิยมประชาธิปไตย แต่ผู้ถูกเรียกตัวกล่าวว่าจะไม่ยอมมอบตัวกับทหาร แม้ คสช. ขู่ว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะได้รับโทษอาญา ในจังหวัดขอนแก่น นักศึกษาจัดพิธีลาประชาธิปไตยหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ ในจังหวัดมหาสารคาม นักศึกษาจัดประท้วงต่อต้านรัฐประหารกลางนคร แต่ทหารมายึดอุปกรณ์ประท้วง รวมทั้งป้ายผ้า

วันที่ 25 พฤษภาคม มีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารชุมนุมหน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ที่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่ทหารเข้ามายึดพื้นที่ ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังแยกปทุมวัน แต่ทหารสกัดไว้

นักวิชาการเรียกร้องให้สมาชิก คสช. แสดงทรัพย์สินต่อสาธารณะ ทว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กล่าวว่า ไม่มีกฎหมายกำหนดเช่นนั้น

มีนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารจำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงรายถูกศาลทหารเชียงรายเรียกตัวและถูกกักขังโดยไม่มีข้อกล่าวหา

วันที่ 1 มิถุนายน มีการนัดหมายชุมนุมต้านรัฐประหารโดยไม่แจ้งสถานที่ล่วงหน้า จึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ 38 กองร้อยประจำอยู่ตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร หรือตามสถานที่ที่เคยมีการชุมนุม แต่วันนี้ไม่มีรายงานนัดชุมนุมในพื้นที่ซึ่งมีทหารและตำรวจประจำอยู่ ที่ลานหน้าห้างเทอร์มินัล 21 มีผู้ชุมนุมหลายสิบคนชูสัญลักษณ์สามนิ้วแบบภาพยนตร์เรื่องเกมล่าชีวิต ต่อมา เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุมและปิดห้างเทอร์มินัล 21 มีรายงานผู้ถูกจับกุม 4 คน สัญลักษณ์สามนิ้วเป็นตัวแทนของความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพ กองทัพประกาศว่าจะจับทุกคนที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว

วันที่ 7 มิถุนายน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า พรรคเพื่อไทยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม สมาชิกกลุ่มหนึ่งกล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะต่อสู้กับคณะรัฐประหาร กลุ่มที่สองเลือกไม่ต่อต้านและพยายามลดบทบาท ส่วนกลุ่มที่สามตัดสินใจรอดูสถานการณ์ มีรายงานว่าจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำ นปช. กำลังใช้กลวิธีจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพราะปฏิกิริยาต่อรัฐประหาร และผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจของสกุลชินวัตร

วันที่ 10 มิถุนายน เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 28 คน ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและความผิดฐานกบฏ จากการประกาศใช้กฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ

ต่อมา แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารใหม่ โดยมีการจัดกิจกรรมแจกแซนด์วิชให้แก่ผู้ที่ต้องการ และตะโกนว่า "แซนด์วิชเพื่อประชาธิปไตย!" วันที่ 22 มิถุนายน นักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังทานแซนด์วิช และอ่านหนังสือหนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ของจอร์จ ออร์เวลล์ อยู่หน้าสยามพารากอน และกลุ่มนักเคลื่อนไหว ศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่จะจัดกิจกรรมแซนด์วิชในที่เดียวกันถูกควบคุมตัวและถูกกักขังในภายหลัง

วันที่ 24 มิถุนายน มีการเผยแพร่คลิปจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในเพจ "องค์กรเสรีไทย" นอกจากนี้ ยังมีคลิปแถลงการณ์ภาษาอังกฤษของจักรภพ เพ็ญแขในเพจเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยรายงานว่า จารุพงศ์ยื่นหนังสือลาออก จากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน

วันที่ 19 พฤศจิกายน นักศึกษาห้าคนถูกควบคุมตัวจากการชูสัญลักษณ์สามนิ้วจากภาพยนตร์ เกมล่าเกม ในงานที่พลเอกประยุทธ์กำลังกล่าวที่จังหวัดขอนแก่น สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เขาไม่รู้สึกถูกกวนใจและถามว่า "มีใครอยากประท้วงอีกไหม"ประชาไท เผยแพร่บทสัมภาษณ์นักศึกษาทั้งห้าดังกล่าวว่า มีทหารมาสอบ ให้ยืนติดกำแพง ให้ยอมรับว่าพวกเขาผิด แต่พวกเขาไม่ยอมรับ ต่อมาทหารนายนั้นแข็งขึ้น ให้เลือกสองข้อว่าจะยอมรับและได้ปล่อยตัว หรือไม่ยอมรับและสิ้นสภาพนักศึกษา ทั้งห้าคนเลือกข้อหลัง มีการบังคับถอดเสื้อ ซึ่งก็ไม่ยอมถอด จนสั่งให้สารวัตรทหารเข้ามาถอด เมื่อยังดึงดันไม่ยอมรับ ทหารจะเอาครอบครัวมากดดัน ต่อมา ทั้งห้าได้รับการปล่อยตัว โดยไม่มีการตั้งข้อหา ทั้งนี้ มีสามคนลงลายมือชื่อรับเงื่อนไขไม่เคลื่อนไหวอีก นักศึกษาคนหนึ่งว่า งงเหมือนกันที่ได้ปล่อยตัว แต่จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่ากฎอัยการศึกใช้กับพวกเขาไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะยอมหรือไม่ยอมเซ็น ก็ได้ปล่อยตัว และไม่มีโทษทางกฎหมาย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงว่ารับทราบการประกาศกฎอัยการศึกในไทยแล้ว พร้อมทั้งกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยังมีความกังวลอย่างยิ่ง ต่อวิกฤตการเมืองไทยซึ่งถลำลึกยิ่งขึ้น และเรียกร้องทุกฝ่าย เคารพหลักการประชาธิปไตย รวมถึงเคารพเสรีภาพในการสื่อสาร สหรัฐอเมริกามีความเข้าใจว่า กองทัพบกประกาศว่าไม่ใช่รัฐประหาร และตั้งความหวังว่ากองทัพบกจะยึดมั่นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง และไม่บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกัน แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา เพื่อแสวงหนทางเดินหน้าต่อไป และตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง ซึ่งจะชี้วัดความปรารถนาของประชาชนไทย

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ที่แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทผลิตรถยนต์ ทั้งฮอนดา, โตโยตา และนิสสัน สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้มีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง รวมทั้งขอให้กองทัพ เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อมวลชน

จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน มี 19 ประเทศเตือนให้พลเมืองเลี่ยงการเดินทางเข้าประเทศไทยหากไม่จำเป็น และ 43 ประเทศเตือนให้พลเมืองระมัดระวังหากเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดจนควรติดตามสถานการณ์และเลี่ยงสถานที่ชุมนุม

ผมผิดหวังตัดสินใจของทหารไทยที่ล้มรัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมการปกครองภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองที่ยาวนาน มันไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับรัฐประหารในครั้งนี้ ผมยังกังวลเกียวกับรายงานที่ว่า ผู้นำของพรรคการเมืองหลัก ๆ ของไทยได้ถูกกักตัว และขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเขา และยังกังวลอีกในเรื่องที่ว่า ได้มีการระงับการแสดงออกของสื่อ ผมเรียกร้องขอให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนและกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที ตลอดจนเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน อาทิ เสรีภาพของสื่อ เส้นทางข้างหน้าของประเทศไทยต้องมีการเลือกตั้ง ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน

เราให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างเรากับชาวไทย การกระทำนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐ-ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับทหารไทย เรากำลังทบทวนความช่วยเหลือและข้อตกลงทางการทหารที่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทูตสหรัฐคนหนึ่งเตือนเมื่อวาน (5 กุมภาพันธ์) ว่า สหรัฐจะไม่ฟื้นพันธมิตรทางทหารกับไทยอย่างสมบูรณ์ตราบเท่าที่รัฐบาลปฏิเสธฟื้นฟูประชาธิปไตย "ต้องมีการฟื้นฟูทั้งสถาบันวิธีการปกครองและความยุติธรรมตลอดจนการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ซึ่งรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง"

ในถ้อยแถลงอีเมล เมลิสซา สวีนีย์ (Melissa Sweeney) โฆษกสถานเอกอัครราชทูต กล่าวว่า ทางการสหรัฐ "ตัดสินใจปีนี้ว่าจะดำเนินการด้วยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2015 ที่มุ่งความสนใจใหม่และปรับลดขนาดอย่างสำคัญ เมื่อพิจารณาการโค่นรัฐบาลพลเรือนของกองทัพไทย" คือ จะเน้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ แม้ยังมีการฝึกยิงกระสุนจริงบ้าง ขนาดทหารสหรัฐลดลงเหลือ 3,600 นายจาก 4,300 นายเมื่อปีที่แล้ว

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ โฆษกกรรมาธิการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาแจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศว่าอุปทูตสหรัฐไม่สะดวกเดินทางมาชี้แจงต่อ สนช. เนื่องจากติดขัดต่อระเบียบปฏิบัติ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดคอบร้าโกลด์ตอนหนึ่งว่า "เราปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงท้าทายและจำเป็นต้องมีคอบร้าโกลด์ดัดแปลงระหว่างที่ประเทศไทยจัดการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย" ฝ่ายเอียน สโตรีย์ (Ian Storey) วุฒิบัณฑิตสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า การยกเลิกคอบร้าโกลด์จะสร้างโอกาสให้รัฐบาลจีนเสริมความสัมพันธ์ยุทธศาสตร์กับรัฐบาลไทย ซึ่งชัดเจนว่าไม่อยู่ในผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐในบริบทการแข่งขันสหรัฐ-จีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ 27 พฤษภาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแถลงว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศลดลงร้อยละ 20 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน สมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกเปิดเผยว่านับแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ยอดจองตั๋วเครื่องบินโดยสารมายังประเทศไทยตกลงไปเฉลี่ยวันละกว่า 5,000 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่นิยมจองตั๋วล่วงหน้าระยะสั้น เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาเดินทางมายังประเทศไทยว่าจะต่ำสุดในรอบ 5 ปี

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และตลาดหลักทรัพย์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่หกติดต่อกัน สะท้อนว่าสาธารณะและนักลงทุนไทยรู้สึกกับท่าทีของกองทัพในเชิงบวก นอกจากนี้ เงินบาทยังแข็งค่าขึ้น 0.5% แต่บริษัทวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ชี้ว่า ผลนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในระยะสั้น

เอเชียเซนตินัล รายงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนว่า กลุ่มสิทธิไทยปประเมินว่า ยังมีผู้ถูกคุมขังอยู่ราว 200 คนนับแต่เกิดรัฐประหาร

บีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนว่า ชาวกัมพูชากว่า 180,000 คน หนีออกนอกประเทศไทยหลัง คสช. ประกาศกวาดล้าง ซอ เคง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา กล่าวว่า ทางการไทยต้องรับผิดชอบ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายงานว่า การออกไปของแรงงานเหล่านี้อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดของผู้นำทหารในความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่ายแรงงานพม่าไม่ออกจากประเทศไทย เพราะตลาดแรงงานของพม่ามีทางเลือกน้อยกว่าตลาดแรงงานของกัมพูชา แรงงานบางส่วนเสนอว่า การเมืองอาจมีบทบาทและกล่าวหาพวกชาตินิยมและคู่แข่งของทักษิณว่าแพร่ข่าวลือ

สหภาพยุโรปจะชะลอการลงนามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) และเรียกร้องให้กองทัพไทยฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังการเมืองและยุติการตรวจพิจารณา วันที่ 20 มิถุนายน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกแถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2557 ซึ่งประเทศไทยถูกปรับลดระดับลงไปอยู่ระดับ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ด้านวิชาวัฒน์ อิศรภักดี เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวแสดงความผิดหวัง โดยระบุว่ารายงานดังกล่าวไม่น่าได้รับการยอมรับ และรัฐบาลไทยดำเนินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

วันที่ 27 มิถุนายน มีการฝึกแผนซ้อมรบทางทะเล ชื่อ "แปซิฟิกริม" โดยมี 23 ประเทศเข้าร่วม ยกเว้นประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า เป็นการระงับความร่วมมือชั่วคราวจากรัฐประหาร

ในรายงานเสรีภาพในโลกของฟรีดอมเฮาส์ จัดให้สถานภาพของประเทศไทยเสื่อมลงจาก "เสรีบางส่วน" เป็น "ไม่เสรี" เนื่องจากรัฐประหาร ซึ่งเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และกำหนดข้อห้ามการพูดและการชุมนุมอย่างรุนแรง


 

 

รับจำนำรถยนต์ รับจำนำรถจอด

ลีโอ กาเมซ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน จักรพรรดินีมารีเยีย อะเลคซันโดรฟนาแห่งรัสเซีย โอลิมปิก 2008 กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 การก่อการกำเริบ 8888 วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ยุทธการแห่งบริเตน บีเซนเต เดล โบสเก โคเซ มานวยล์ เรย์นา เคซุส นาบัส คาบี มาร์ตีเนซ เฟร์นันโด โยเรนเต เปโดร โรดรีเกซ เลเดสมา เซร์คีโอ ราโมส ควน มานวยล์ มาตา บิกตอร์ บัลเดส ชูอัน กัปเดบีลา ชาบี ดาบิด บียา อันเดรส อีเนียสตา การ์เลส ปูยอล ราอุล อัลบีออล กัปตัน (ฟุตบอล) อีเกร์ กาซียัส สโมสรฟุตบอลบียาร์เรอัล 2000 Summer Olympics Football at the Summer Olympics Spain national football team Valencia CF S.L. Benfica Sevilla FC Villarreal CF Midfielder Defender (association football) เนวิลล์ ลองบัตท่อม เจ.เค. โรว์ลิ่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ตัวละคร) บ็อบบี ร็อบสัน สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม แอนดรูว์ จอห์นสัน อิกเนเชียสแห่งโลโยลา เจ. เค. โรว์ลิ่ง เวสลีย์ สไนปส์ ฟิลิปที่ 3 ดยุกแห่งเบอร์กันดี ยอดเขาเคทู สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Munhwa Broadcasting Corporation โจ อินซุง ควอน ซัง วู ยุน อึนเฮ รักวุ่นวายของเจ้าชายกาแฟ อุซึมากิ คุชินะ มาเอดะ อัตสึโกะ คิม ฮีชอล เจสสิก้า ซิมพ์สัน จาง เซี๊ยะโหย่ว พิภพ ธงไชย วิมล ศิริไพบูลย์ มหาธีร์ โมฮัมหมัด บอริส เยลซิน ออกแลนด์ เรนโบว์วอริเออร์ ฝ่ายพันธมิตร เด่น จุลพันธ์ เคอิทาโร โฮชิโน แมนนี่ เมลชอร์ ผู้ฝึกสอน ไมเคิล โดมิงโก ก. สุรางคนางค์ นิโคล เทริโอ ซีเนอดีน ซีดาน เริ่น เสียนฉี โจเซฟีน เดอ โบอาร์เนส์ โอดะ โนบุนากะ แยกราชประสงค์ แคชเมียร์ วีโต้ แอฟริกัน-อเมริกัน Rolling Stone People (magazine) TV Guide อินสตาแกรม Obi-Wan Kenobi Saturday Night Live The Lego Movie Jurassic World Guardians of the Galaxy (film) Her (film) แอนนา ฟาริส จอมโจรอัจฉริยะ จอมโจรคิด ตัวละครในฮายาเตะ พ่อบ้านประจัญบาน ตัวละครในฮายาเตะ พ่อบ้านประจัญบาน ลุยจี กอนซากา ครีษมายัน เจริญ วัดอักษร อลิซ บราวน์ อินิโก โจนส์ กาแอล กากูตา

 

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
91
92
93
94
95
96
97
98
99
100
101
102
103
104
105
106
107
108
109
110
111
112
113
114
115
116
117
118
119
120
121
122
123
124
125
126
127
128
129
130
131
132
133
134
135
136
137
138
139
140
141
142
143
144
145
146
147
148
149
150
151
152
153
154
155
156
157
158
159
160
161
162
163
164
165
166
167
168
169
170
171
172
173
174
175
176
177
178
179
180
181
182
183
184
185
186
187
188
189
190
191
192
193
194
195
196
197
198
199
200
201
202
203
204
205
206
207
208
209
210
211
212
213
214
215
216
217
218
219
220
221
222
223
224
225
226
227
228
229
230
231
232
เลขมงคล รถยนต์ ทะเบียน ทะเบียนรถ เงินด่วน รับจำนำรถยนต์ จำนำรถยนต์ จำนำรถ 23180